โครงการธรรมชาติปลอดภัย อำเภอโกสัมนคร กำแพงเพชร
โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนและแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตก อำเภอโกสัมนคร จังหวัดกำแพงเพชร
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง กับ อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในกลุ่มป่าตะวันตก ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาพื้นที่ป่าไม่ต่อเนื่อง และถูกแบ่งแยกจากกันเนื่องจากมีทางหลวงชนบทหมายเลข 11 16 ตัดผ่านและการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้น
จากปัญหาดังกล่าว มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและศึกษาแนวทางการทำเส้นทางเชื่อมต่อของสัตว์ป่าระหว่างป่าอนุรักษ์ทั้งสองแห่ง พร้อมได้หารือกับโครงการธรรมชาติปลอดภัยฯ เพื่อดำเนินการ “โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่สงวนและแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร” เมื่อปี 2563
แนวคิดในการดำเนินงานคือ ทำความเข้าใจและเชิญชวนชุมชนปรับเปลี่ยนการทำการเกษตร จากการปลูกพืชไร่เช่นมันสำปะหลัง เป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจ หรือสวนป่าไผ่ ตลอดจนการเกษตรผสมผสาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดหย่อมต้นไม้เศรษฐกิจกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ ซึ่งนอกจากชุมชนมีรายได้ที่เพียงพอกับการยังชีพแล้ว สวนป่ไผ่หรือแปลงไม้เศรษฐกิจที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ อาจจะเอื้อต่อการเคลื่อนที่ของสัตว์ป่า นำไปสู่การแพร่กระจายของสัตว์ป่า และพืชป่าให้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม เพื่อสมดุลแห่งระบบนิเวศ ซึ่งทางวิชาการเรียกลักษณะการเชื่อมทางเดินสัตว์ป่าเป็นหย่อมๆ ว่า Stepping stone
ปัจจุบัน โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนฯ ได้ส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่เป้าหมายปลูกไม้เศรษฐกิจไปแล้วจำนวน 100 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 จากพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 5,673 ไร่ แบ่งเป็นการปลูกไผ่ซางหม่นจำนวน 8,103 ต้น พื้นที่ 80 ไร่ และปลูกลำไยจำนวน 500 ต้น พื้นที่ 20 ไร่ พร้อมกันนี้ยังได้สำรวจเก็บข้อมูลพันธุ์ไม้ภายใต้โครงการศึกษาความหลากหลาย ความโดดเด่น และความหนาแน่นของชนิดพันธุ์ไม้ที่เอื้อต่อการเชื่อมต่อป่าอุทยานคลองวังเจ้ากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง โดยการตีแปลงสำรวจจำนวน 136 แปลงรอบป่าชุมชนทั้ง 4 ชุมชนเป้าหมาย พบพันธุ์ไม้ทั้งหมด 51 วงศ์และชนิดพันธุ์ไม้ทั้งหมด 186 ชนิด