• 02-764-7000

สถานีวิจัยกำแพงเพชร

ความเป็นมาของสถานีวิจัย

              สถานีวิจัยกำแพงเพชร ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2521 อยู่ในพื้นที่ของ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ช่วงแรกสถานีวิจัยได้ดำเนินงานวิจัยพืชหลากหลายชนิด เช่น ข้าวโพด ส้มโอ งานเพาะกล้ายางพาราและปาล์มน้ำมัน ในปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน ได้ปรับเปลี่ยนเป็นงานวิจัยพันธุ์ข้าว พริก และถั่วเหลือง โดยปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์และทดสอบพันธุ์ จำนวน 123 ไร่

บทบาทหน้าที่งานวิจัย : ดำเนินงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว พริก และถั่วเหลือง งานทดสอบพันธุ์ งานพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และงานห้องปฏิบัติการเครื่องหมายโมเลกุล

งานรับผิดชอบ

งานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าว มีวัตถุประสงค์นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และข้าวบริโภค โดยแบ่งเป็นงานวิจัยพันธุ์ข้าว 6 กลุ่มพันธุ์ ได้แก่

1) ข้าวอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
2) ข้าวเจ้าขาว
3) ข้าวเจ้านุ่ม-หอม
4) ข้าวเหนียว
5) ข้าวโภชนาการ
6) ข้าวลูกผสม

งานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พริก มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพันธุ์พริกให้สามารถใช้เครื่องจักรในการผลิต ตั้งแต่กระบวนปลูก ดูแลจัดการแปลง จนกระทั่งเก็บเกี่ยว ซึ่งจะมีลักษณะต้นทรงพุ่มเล็ก อายุสั้น ออกดอกพร้อมกัน เก็บเกี่ยวได้ครั้งเดียว มีรูปลักษณะผลตามมาตรฐานตลาด มีความเผ็ดปานกลาง โดยแบ่งพันธุ์พริกออกเป็น 4 กลุ่มพันธุ์ ได้แก่

1) พริกใหญ่
2) พริกขี้หนูผลใหญ่
3) พริกช่อ
4) พริกขี้หนูผลเล็ก

งานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลือง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้พันธุ์ผลผลิตสูง โปรตีนสูง และสามารถปลูกให้ผลผลิตดีในประเทศไทย

งานทดสอบพันธุ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินลักษณะดีเด่นของพันธุ์ข้าว พริก และถั่วเหลือง เช่น ลักษณะผลผลิต ทรงต้น คุณภาพผลผลิต เป็นต้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจในศักยภาพของพันธุ์ที่จะออกเป็นการค้าในอนาคต

งานพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการผลิตใหม่ การบริหารจัดการธาตุอาหารพืช การจัดการโรค-แมลง และวัชพืช เพื่อให้ข้าว และพริก มีการให้ผลผลิตได้เต็มศักยภาพ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิต

งานห้องปฏิบัติการเครื่องหมายโมเลกุล มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าว พริก และถั่วเหลือง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะทำให้การคัดเลือกพันธุ์ มีความรวดเร็วและแม่นยำในลักษณะที่นักปรับปรุงพันธุ์ต้องการ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการวิเคราะห์คุณภาพข้าวเบื้องต้น เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการคัดเลือกพันธุ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เช่น ปริมาณอะไมโลส การสลายตัวในด่าง อุณหภูมิแป้งสุก เป็นต้น