• 02-764-7000

ในดินมีธาตุอาหารไหม…ทำไมปลูกต้นไม้ต้องใส่ปุ๋ย

การปลูกพืชในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปลูกเพื่อประกอบอาชีพ ปลูกกิน หรือปลูกเพื่อความสวยงาม ก็ต้องใส่ปุ๋ย เพื่อให้ออกดอก ออกผล แต่เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมต้องใส่ปุ๋ย ปุ๋ยที่เคยใส่ไปแล้วไปไหน ไม่ใส่ได้ไหม พืชจะโตหรือเปล่า ขอเริ่มกันที่เรื่องของธาตุอาหารพืชที่จำเป็นและยอมรับกันอย่างกว้างขวางของพืชกันก่อน ซึ่งมีอยู่ 17 ธาตุ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1) ธาตุอาหารมหธาตุ (macronutrients หรือ major elements) คือ ธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณมาก และขาดไม่ได้ โดยมีความเข้มข้นของธาตุอาหารโดยน้ำหนักแห้ง เมื่อพืชเจริญเติบโตเต็มวัยสูงกว่า 500 พีพีเอ็ม ได้แก่ คาร์บอน, ไฮโดรเจน และออกซิเจน ซึ่งได้จากน้ำ และอากาศ ส่วนไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส, โปแตสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม และกำมะถัน พืชได้จากดิน สำหรับ ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส, โปแตสเซียม เรียกรวมกันว่าธาตุอาหารหลักหรือธาตุปุ๋ย เนื่องจากพืชต้องการมากแต่ได้รับจากดินไม่เพียงพอ แคลเซียม, แมกนีเซียม และกำมะถัน เรียกว่าธาตุอาหารรอง ไม่มีปัญหาความขาดแคลนในดินทั่วไปเหมือนสามอันดับแรก และยังเรียกแคลเซียม, แมกนีเซียมอีกอย่างว่าธาตุปูน เนื่องจากปูนที่ใช้แก่ปัญหาดินกรดมีสองธาตุนี้เป็นหลัก 2) จุลธาตุหรือธาตุอาหารเสริม (micronutrient elements หรือ trace elements) คือ ธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณน้อย โดยที่มีความเข้มข้นของธาตุอาหารโดยน้ำหนักแห้ง เมื่อพืชเจริญเติบโตเต็มวัยต่ำกว่า 100 พีพีเอ็ม ได้แก่เหล็ก, แมงกานีส, สังกะสี, ทองแดง, โบรอน, โมลิบดีนัม, คลอรีน และนิเกิล การสูญเสียธาตุอาหารระหว่างการปลูกพืชออกไปจากดิน มาได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ 1. กระบวนการชะล้าง (run off) ถ้าให้น้ำมากๆ หรือ ฝนตกชุก จะพัดพาธาตุอาหารไหลบ่าออกไปจากพื้นที่ 2. กระบวนการระเหิด (volatilization) ไนโตรเจน ในรูปของไอออน NH4+ จะเปลี่ยนรูปเป็นก๊าซแอมโมเนีย ระเหยขึ้นสู่อากาศ 2. กระบวนการระเหย (denitrification) มักเกิดใน สภาพน้ำขัง หรือดินอิ่มตัวด้วยน้ำแล้วขาดออกซิเจน ไนโตรเจน จะเปลี่ยนรูปเป็นก๊าซลอยไปในอากาศ 3. กระบวนการสูญเสียชั่วคราว (immobilization) เกิดขึ้นมาก ในดินที่มีเศษซากพืชที่ยังไม่ย่อยสลายมาก ๆ เมื่อซากพืชเหล่านี้อยู่ในดิน จุลินทรีย์จะย่อยสลายแล้วเพิ่มปริมาณตัวเองอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เพิ่มปริมาณจะดึงเอาไนโตรเจนจากดินและปุ๋ยไปใช้ด้วย 4 สภาพพื้นที่ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากคุณสมบัติทางด้านต่าง ๆ ของดินไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่นสมบัติทางเคมีของดินมีสภาพเป็นกรดจัด ทำให้เกิดการละลายของเหล็กออกมาและทำการตกตะกอนกับฟอสฟอรัสกลายเป็นสารประกอบไม่ละลายน้ำ พืชนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทางด้านกายภาพของดินสูญเสียโครงสร้างทำให้เกิดอัดตัวแน่น ขาดความโปร่งพรุน รากพืชมีการชอนไชหาอาหารได้ยาก ดังนั้นการปลูกพืชจึงมีโอกาสการสูญเสียธาตุอาหารในดิน และธาตุอาหารที่เราเติมลงไปได้ตลอดเวลา ถ้าจะปลูกพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ให้ได้ประสิทธิภาพ ควรมีการมีการปรับแก้ไขปัญหาของดินและใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง ทั้งถูกชนิด ถูกปริมาณ ถูกเวลา และถูกวิธี นอกจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้ยังสามารถลดต้นทุนได้ด้วย เปรียบเสมือนคนกินอาหารถูกสัดส่วน สุขภาพจะสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ล้มป่วยง่าย แต่อย่างไรก็ตาม เราควรรู้จักดินของเราก่อนว่าเป็นอย่างไร โดยการส่งตรวจวิเคราะห์ดินในห้องปฎิบัติการต่อไป   งานวิจัยพันธุ์ข้าวโพดและประกันคุณภาพ CPP

Add a Comment

Your email address will not be published.