งานวิจัยพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อการเกษตร
งานวิจัยพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อการเกษตร
หน่วยงานวิจัยพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อการเกษตร สังกัดศูนย์วิจัย, ประกันคุณภาพดินและปุ๋ย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาจุลินทรีย์ในด้านต่างๆ เช่น จุลินทรีย์เพิ่มประสิทธิภาพการหมักปุ๋ยอินทรีย์, จุลินทรีย์กำจัดแอมโมเนียในระหว่างกระบวน การหมักปุ๋ย, จุลินทรีย์ส่งเสริมการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตพืช ช่วยปลดปล่อยธาตุอาหารที่ถูกตรึงในดินให้พืชนำมาใช้ได้และช่วยลดการใช้ปุ๋ยที่มากเกินความจำเป็น, จุลินทรีย์ป้องกันและควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช ช่วยลดการใช้สารเคมีกำจัดโรคที่สำคัญในพืช ปลอดภัยต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
วิจัยพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางการเกษตร
งานวิจัยพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อการเกษตร 3 ด้านหลักๆ ดังนี้
- วิจัยพัฒนาจุลินทรีย์เพิ่มประสิทธิภาพการหมักปุ๋ย
- วิจัยพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ป้องกันและควบคุมโรคพืช
- วิจัยพัฒนาจุลินทรีย์ส่งเสริมการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตพืช
1. วิจัยพัฒนาจุลินทรีย์เพิ่มประสิทธิภาพการหมักปุ๋ย
การหมักปุ๋ยอินทรีย์จะต้องใช้กระบวนการในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเชื้อจุลินทรีย์ในการย่อยสลายวัสดุหมักภายใต้การควบคุมสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้ปุ๋ยหมักแปรสภาพเป็นปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพ ไม่เป็นพิษต่อพืช งานวิจัยนี้จึงมุ่งคัดเลือกจุลินทรีย์กลุ่มเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อแอคติโนมัยซีทจากกองหมักปุ๋ย และทดสอบประสิทธิภาพในการผลิตเอนไซม์ย่อยสลายลิกโนเซลลูโลส (เซลลูโลส, ไซแลน, ลิกนิน) ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักในพืชที่นำมาใช้ร่วมหมักปุ๋ยอินทรีย์ โดยสามารถคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตเอนไซม์ได้จำนวน 5 สายพันธุ์ สำหรับนำไปขยายผลใช้ในกองหมักระดับอุตสาหกรรม
ทั้งนี้เชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis 9131B87 ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในการผลิตเอนไซม์เซลลูเลสเพื่อย่อยสลายเซลลูโลสในวัสดุร่วมหมัก ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามนโยบายเครือฯ ในผลงานชื่อ ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์ และกระบวนการหมักปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์ร่วมกับวัสดุทางการเกษตรโดยใช้จุลินทรีย์ Bacillus subtilis 9131B87 เป็นตัวเร่ง
2. วิจัยพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ป้องกันและควบคุมโรคพืช
ปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มการบริโภคสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น แต่พบว่าเกษตรกรมีการใช้สารเคมีในการควบคุมโรคพืชที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของเกษตรกรและผู้บริโภค การควบคุมโรคพืชโดยชีววิธี (Biological control) เป็นวิธีหนึ่งที่ยอมรับว่าใช้ได้ผลดี โดยเฉพาะการใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ (Antagonist) เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถลดการใช้สารเคมีอันตรายในการควบคุมโรคพืช ทีมวิจัยจุลินทรีย์ได้คัดแยกเชื้อราไตรโคเดอร์มาจากตัวอย่างดินรอบรากพืช และยังได้พัฒนาต่อยอดเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis 9131B87 ที่มีคุณสมบัติในการผลิตเอนไซม์เซลลูเลส นำมาทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งและควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช โดยเฉพาะเชื้อราสาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าในพืชเศรษฐกิจ อาทิ เช่น โรคต้นเน่าข้าวโพด โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน โรครากเน่าโคนเน่าในพริก โดยพบว่าเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ของบริษัท Trichoderma asperellum TCP2 และ Bacillus subtilis B87 มีประสิทธิภาพยับยั้งเชื้อราสาเหตุโรคต้นเน่าและรากเน่าโคนเน่าได้มากกว่า 60% โดยสามารถประยุกต์ใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ในรูปแบบผสมปุ๋ยอินทรีย์ (Probiotic organic fertilizer) หรือใช้ในรูปแบบหัวเชื้อเข้มข้น
การประยุกต์ใช้เชื้อ Bacillus subtilis สายพันธุ์ 9131B87 เพื่อลดความรุนแรงของการเกิดโรคต้นเน่า ในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
พบว่า แปลงปลูกที่ใช้เชื้อ Bacillus subtilis สายพันธุ์ 9131B87 ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ หว่านรองพื้นก่อนปลูก และหว่านครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดอายุ 30 วัน สามารถลดการเกิดโรคได้ดีที่สุด โดยลดการเกิดโรคต้นเน่าเหลือเพียง 37.34%ในขณะที่แปลงที่ไม่ได้ใช้เชื้อปฏิปักษ์เกิดโรคถึง 46.00% ซึ่งผลงานนี้ได้เผยแพร่ในงานประชุมวิชาการระดับชาติในงาน Thailand Research Expo & Symposium 2022 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
การใช้ปุ๋ยอินทรีย์พลัส Bacillus B87 ป้องกันและควบคุมโรคต้นเน่าข้าวโพดที่แปลงเกษตรกร Shan State, Myanmar
ทีม CPP เมียนมาร์ ได้นำผลงานวิจัยพัฒนาจุลินทรีย์สายพันธุ์ Bacillus subtilis B87 ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเป็นเชื้อปฏิปักษ์ควบคุมเชื้อราโรคต้นเน่าและฝักเน่าข้าวโพด ไปขยายผลในเมียนมาร์ โดยใช้ในรูปแบบจุลินทรีย์ผสมปุ๋ยอินทรีย์หว่านรองพื้นก่อนปลูกในแปลงข้าวโพดของเกษตรกร Shan State, Myanmar จากผลการใช้พบว่า แปลงที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผสมเชื้อ B87 ลดการเกิดโรคได้ถึง 49.18% โดยพบการเกิดโรคต้นเน่าและฝักเน่าเพียง 3 .0% ในขณะที่แปลงปลูกที่ไม่ได้ใช้จุลินทรีย์ B87 พบการเกิดโรคที่ 6.1%
3. วิจัยพัฒนาจุลินทรีย์ส่งเสริมการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตพืช
การส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชโดยชีววิธีจากจุลินทรีย์ที่สามารถส่งเสริมปริมาณผลผลิต และคุณภาพผลผลิต โดยจุลินทรีย์บางสายพันธุ์มีคุณสมบัติเป็น Plant Growth Promoting (PGP) โดยจุลินทรีย์นี้สามารถแปรสภาพของสารอนินทรีย์ เช่นละลายฟอสฟอรัสที่ถูกตรึงไว้ในดินถึงแม้จะมีปริมาณฟอสฟอรัสมากก็จริงแต่พืชก็ยังอาจจะขาดฟอสฟอรัสได้ เพราะส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่ละลายน้ำยาก ดังนั้นจุลินทรีย์จึงมีบทบาทสำคัญในการละลายสารประกอบฟอสเฟตที่ละลายยากให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ได้ รวมไปถึงการผลิตสารคล้ายฮอร์โมนพืช เช่น ออกซิน (Auxin) ช่วยกระตุ้นการเกิดราก, เร่งการเติบโตของพืชทั้งในส่วนที่เป็นต้นและราก การใช้จุลินทรีย์จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจ สำหรับการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน ข้าวโพด ข้าว เป็นต้น
งานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ ซี.พี.หมอดิน เอ็นที 009
ทีมวิจัยจุลินทรีย์ ได้มีการวิจัยพัฒนาการใช้เชื้อรา Trichoderma asperellum สายพันธุ์ NST009 ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ในรูปแบบจุลินทรีย์หมักบ่มในปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อใช้ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตและเสริมภูมิต้านทานต่อเชื้อก่อโรคระบบรากและลำต้นในทุเรียนซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งระยะก่อนให้ผลผลิตและหลังให้ผลผลิต จากผลทดสอบการใช้ในสวนทุเรียนทางเขตภาคใต้ พบว่าการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาหมักบ่มปุ๋ยอินทรีย์ ส่งผลให้ทุเรียนต้นเล็กมีการเจริญเติบโตด้านความสูงต้นเพิ่มขึ้นที่ 16.97% ในสวนที่ไม่ได้ใช้จุลินทรีย์ความสูงต้นทุเรียนเพิ่มขึ้น 9.46% ทั้งนี้ยังพบว่า สวนที่ใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา มีปริมาณฟอสฟอรัสในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเพิ่มขึ้น 18.56 เท่า ปริมาณเชื้อราก่อโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนลดลง ช่วยลดความเสียหายของต้นทุเรียน ทั้งนี้การใช้จุลินทรีย์ยังมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ และเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการผลิตพืชอย่างยั่งยืน
ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ซี.พี.หมอดิน เอ็นที 009
1.ผ่านการย่อยสลายและหมักบ่มเสร็จสมบูรณ์ด้วยจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์สายพันธุ์ Trichoderma asperellum NST009, Bacillus subtilis B87
2.มีธาตุอาหารหลัก 1N-3P-3K, ธาตุรอง Mg, Ca 0.5-1%, อินทรียวัตถุ> 20%
3.ส่งเสริมภูมิต้านทานพืชต่อโรคที่เกี่ยวกับระบบรากและลำต้น ลดปัญหาเชื้อโรครากเน่าโคนเน่าที่สะสมในดิน
4.เสริมสร้างการสร้างรากและการเจริญเติบโต
5.ช่วยละลายธาตุฟอสฟอรัสที่ถูกตรึงในดินให้พืชนำมาใช้ประโยชน์ได้
6.ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน, ช่วยกักเก็บธาตุอาหรในดิน และทำให้ดินอุ้มน้ำได้ดี ส่งผลให้พืชสามารถดูดใช้ธาตุอาหารได้ดียิ่งขึ้น
7.ช่วยย่อยสลายเศษซากพืชในดิน หลังการเก็บเกี่ยว
8.มีจุลินทรีย์ที่มีชีวิตและมีประโยชน์ในปุ๋ยอินทรีย์ไม่ต่ำกว่า 1 แสนเซลต่อกรัมปุ๋ย